การจัดการเรียนการสอนทางไกล รวม วิธีปฎิบัติและกลยุทธ์ พร้อมใช้ (อัพเดทล่าสุด)

การจัดการเรียนการสอนทางไกล รวม วิธีปฎิบัติ และ กลยุทธ์ พร้อมใช้ (อัพเดทล่าสุด)

การจัดการเรียนการสอนทางไกล

การจัดการเรียนการสอนทางไกล เรื่องนี้ อาจารย์หลายต่อหลายคนอาจจะกำลังต้องเริ่มเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆเพื่อนำเสนอการเรียนการสอนทางไกลแต่ในขณะเดียวกัน นี่ก็ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับนักเรียนบางคนเช่นเดียวกัน

 

อาจารย์บางท่านกำลังคิดว่า เมื่อเรามีทักษะทางด้านออนไลน์อยู่บ้างแล้ว สามารถใช้เครื่องมือต่างๆได้ เราก็ควรจะสอนได้ไม่ยาก สอนเหมือนกับที่เคยสอนตอนอยู่ในห้องเรียน โรงเรียน วิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป คือ ความใกล้ชิดระหว่างอาจารย์และนักเรียนในรูปแบบเดิมมันหายไป

 

ปัญหาปวดหัว ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้สอนหรืออาจารย์เสียมากกว่า โดยปกติในการเรียนการสอนในห้องเรียน สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ทำให้น่าสนใจกับนักเรียนในห้องได้ไม่ยากนัก ยิ่งถ้าเป็นคุณครูหรืออาจารย์ที่มีประสบการณ์มายาวนาน การดูแลเด็กนักเรียนในห้องเรียนขณะที่กำลังสอนอยู่นั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนทางไกล คือ ผู้สอนจะไม่สามารถทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมได้เท่ากับตอนที่เรียนอยู่ในห้อง

 

 

นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ผู้สอนจำเป็นต้องเรียนรู้ว่า จะต้องวางกลยุทธ์หรือออกแบบการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมจากทางไกลได้ดีเท่ากับการเรียนแบบปกติในห้องเรียน

 

เรื่องที่นำมาแบ่งปัน รวมถึง ให้เป็นกลยุทธ์และเทคนิคไว้ในบทความนี้ เพื่อให้ผู้สอนหรือครูอาจารย์ที่กำลังจะต้องจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล ไว้ใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อช่วยในการทำให้เด็กๆหรือนักเรียนของท่าน มีส่วนร่วมในรูปแบบของห้องเรียนทางไกลได้

 

1. แสดงออกให้เหมาะสมจนนักเรียนรู้สึกได้ว่าอยู่กับเราจริงๆ

 

มีการต้อนรับนักเรียนเข้าสู่บทเรียนทางไกล ในรูปแบบของความเป็นกลุ่มก้อนเหมือนนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน ผู้สอนอาจบอกเล่าเรื่องราว เกี่ยวกับตัวเองเล็กๆน้อยๆ เพื่อสร้างความเชื่อมโยง ในสถานการณ์ประจำวันที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึง สร้างความสัมพันธ์เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่า มีเพื่อน หรือ มีบางอย่างร่วมกับผู้สอน เช่น

 

มีสถานะการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงต้องทำงานจากที่บ้าน หรือ

พูดคุยเรื่องการใช้เครื่องมือในการเรียนการสอนทางไกล หรือ

ชีวิตประจำวันทั่วไปในระหว่างภาวะที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน

 

จากนั้น ก็อธิบายว่าในการสอนครั้งนี้ จะเกี่ยวกับอะไรบ้าง เพื่อให้นักเรียนได้รู้ว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้อะไรในการสอนครั้งนี้ การสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนจะทำให้เกิดความรู้สึกเสมือนอยู่ใกล้ชิดกัน รวมถึง ทำให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมและยินดีที่จะเปิดโอกาสการเรียนรู้ของตัวพวกเขาเองง่ายขึ้น

 

2. พร้อมเปิดรับอยู่เสมอ

 

มีประโยคภาษาอังกฤษหนึ่ง ที่ใช้กับเรื่องราวนี้ได้ คือ “High-touch is more important than high-tech.” ซึ่งในที่นี้ หมายความว่า แม้ว่าการเรียนการสอนทางไกลจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะดูน่าตื่นเต้นสำหรับทั้งผู้เรียนและผู้สอน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนทางไกลประสบความสำเร็จมากขึ้น คือ การรับรู้ความรู้สึกกันและกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

 

อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ได้เปิดโอกาสช่วงที่จะต้องมีการเรียนการสอนทางไกลให้กับนักเรียน ให้ได้มีโอกาสติดต่อหาเธอได้ตลอดเวลาโดยการโทรผ่านไลน์ ถ้าหากต้องการคำแนะนำหรือปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเรียน รวมถึงสามารถพูดคุยเรื่องปัญหาต่างๆกับเธอได้โดยตรง

 

คุณครูคอมพิวเตอร์ระดับมัธยมท่านหนึ่ง ทำระบบออนไลน์ลงเวลาเพื่อให้นักศึกษาจองเพื่อขอรับคำปรึกษาได้นอกเวลาเรียน และ สามารถให้นักเรียนรวมตัวกันมาเพื่อปรึกษาทั้งในเนื้อหาหลักสูตรหรือเรื่องอื่นๆได้ในกรณีที่นักเรียนอยากพูดคุยแบบกลุ่ม รวมถึง คุณครูท่านนี้ยังสร้างกลุ่มใน facebook เล็กๆ เพื่อให้นักเรียนมาโพสต์คำถามและช่วยให้เพื่อนๆรวมถึงคุณครูเข้ามาตอบด้วย

 

การสื่อสารที่ดีและมีความต่อเนื่อง
จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าการมีส่วนร่วมมีคุณค่า

 

 

3. ใช้เครื่องไม้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์

 

มีเครื่องมือในการเรียนรู้และสื่อการสอนแบบออนไลน์ใหม่ๆ แบบไม่มีค่าใช้จ่ายให้เลือกใช้มากมาย ตัวอย่างเช่น การใช้รูปภาพ 3 มิติ วัตถุเสมือน (Augmented Reality) ความจริงเสมือน (Virtual Reality) การเปิดคลิปวีดีโอตัวอย่าง การวาดภาพ และอื่นๆอีกมากมาย ที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างการเรียนรู้ได้

 

4. อย่าสอนอย่างเดียว และอย่าพูดอยู่คนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ

 

อาจารย์บางท่านหรือผู้สอนบางคน หากมีประสบการณ์ในการสอนรูปแบบออนไลน์แล้ว จะเข้าใจว่ามีประสบการณ์บางอย่างที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในห้อง การทำให้หลักสูตรดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นเหมือนห้องทดลองให้นักเรียนมีส่วนร่วม จะสามารถดึงดูดให้นักเรียนมีสมาธิกับการเรียนครั้งนี้ เช่น การใช้วีดีโอคลิปสั้นๆเป็นตัวอย่าง หรือ การนำเรื่องราวเรื่องเล่าต่างๆ มุกตลกแทรกสอดในหลักสูตร จะยกระดับของการเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น

 

การให้นักเรียนได้รับรู้สิ่งที่เขาคาดไม่ถึงมาก่อน
จะยิ่งช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนการสอนทางไกล
ได้ดียิ่งขึ้น

 

 

5. สั่งงานหรือการบ้านต้องให้ชัดเจน

 

ใน การจัดการเรียนการสอนทางไกล อาจยังจำเป็นต้องมีการให้งานเสริมหรือการบ้านกับนักเรียน หลังจากจบชั่วโมงเรียนแล้ว สิ่งที่ผู้สอนควรทำมากที่สุด คือ ชี้แจงรายละเอียด วิธีการทำการบ้านและการสั่งงานให้ชัดเจนมากที่สุด โดยอาจจะมีการสร้างโน้ตหรือโพสต์ไว้ ให้นักเรียนกลับมาทบทวนและทำความเข้าใจ  กำหนดวันส่งงานให้ชัดเจน รวมถึง แจ้งรายละเอียด ว่า การบ้านหรืองานชิ้นนี้จะมีผลกับคะแนน หรือ การเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร

 

 

6. รับฟังความคิดเห็น

 

ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนปกติ หรือ การจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล นั้น การรับและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรหรือการเรียนการสอนครั้งนี้ จะช่วยให้ตัวนักเรียนเองรู้สึกเชื่อมโยงกับหลักสูตร ตัวผู้สอน และ เพื่อนๆในห้องได้เป็นอย่างดี การเปิดรับฟังความคิดเห็น อาจไม่จำเป็นต้องเป็นการพูดคุยในขณะมีการเรียนการสอนเพียงเท่านั้น แต่สามารถพูดคุยผ่านการแชท การโพสต์ข้อความต่างๆ และช่วยกันตอบ พูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลจะยิ่งช่วยให้หลักสูตรพัฒนาตัวเองขึ้นไป รวมถึง ผู้เรียนได้เรียนรู้และยังได้มีส่วนร่วมแท้จริง

 

อย่าลืมว่า! ใน การจัดการเรียนการสอนทางไกล นั้น
ควรจะสร้างความรู้สึกเสมือนกับอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน
ที่มีทั้ง ครูผู้สอน และ เพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วย

 

LINE video call - work from home

เมื่อจำเป็นจะต้องจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วง โควิด-19

5 วิธี รวมถึง เครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน
เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนทางไกลนี้

 

การจัดการเรียนการสอนแบบเสมือนนี้ เป็นความท้าทายของระบบการศึกษาหรือการเรียนแบบปกติในห้องเรียน สิ่งที่สำคัญที่สุด จำเป็นจะต้องย้อนมาดูเรื่องพื้นฐานของการเรียนรู้และการสอน คือ การสื่อสารออกไปด้วย ความเข้าอกเข้าใจ และสร้างแรงจูงใจรวมถึงกระตุ้นการเรียนรู้ให้ได้

 

มีกลยุทธ์บางอย่างที่ใช้ในทางปฏิบัติ รวมถึง เป็นเทคนิคเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนมีส่วนร่วมได้ดี เรียกว่า การสร้างบรรยากาศห้องเรียนเสมือน

 

1. รวมศูนย์การสื่อสารกับผู้เรียนรวมถึงผู้ปกครองของนักเรียนไว้ในที่เดียว

 

– สร้างความสม่ำเสมอในการสื่อสารข้อมูล ถึงตัวนักเรียน รวมถึง ผู้ปกครองหรือผู้รับผิดชอบของนักเรียนด้วย ในกรณีที่สถาบันสามารถจัดเครื่องมือให้ใช้ได้ก็จะเป็นการดี แต่หากไม่มี ยังมีตัวเลือกในการสร้างกลุ่มลักษณะนี้ได้เช่นกัน เช่น facebook group หรือ LINE Openchat ใช้เครื่องมือต่างๆเหล่านี้ในการให้ข้อมูลหลักสูตร การบ้าน หรือ งานต่างๆที่นักเรียนจำเป็นต้องมีผลงานมาส่ง ยังมีเครื่องมือช่วยอื่นๆ ที่สามารถสร้างห้องเรียนแบบออนไลน์ลักษณะนี้ได้ เช่น Google Classroom

 

– มีข้อมูลติดต่อของตัวผู้เรียนรวมถึงผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็น เบอร์ติดต่อ อีเมล์ ไลน์ไอดี (LINE ID) หรือว่า เฟส (facebook account) เพื่อให้สามารถสื่อสารได้โดยตรง ในกรณีที่จำเป็นจะต้องติดต่อฉุกเฉินหรือแจ้งเรื่องสำคัญให้ทราบ รวมถึงสามารถใช้ในการแจ้งเตือน กำหนดวันส่งการบ้าน กำหนดการสอบ หรือ ตารางเรียน ตารางสอน และ วันหยุดต่างๆ

 

 

2. สร้างชั้นเรียนแบบนอกกรอบ

 

เมื่อเป็นรูปแบบของ การจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล นักเรียนสามารถค้นคว้าหาข้อมูล รวมถึง เข้าถึงสื่ออื่นๆได้ง่ายกว่าตอนเรียนในห้อง ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ผู้สอนสามารถส่งเนื้อหาความรู้ ในรูปแบบอื่นๆเพื่อให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติมได้ เช่น

ลิงค์คลิปวีดีโอใน youtube

ช่องพอดแคสต์ (Podcasts) ในหัวข้อที่เกี่ยวกับหลักสูตร

บทความในเว็บไซต์ต่างๆ

เพื่อให้นักเรียนสามารถต่อยอดความรู้ เพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหลักสูตรได้โดยอาจจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนให้ทำเป็นกลุ่มหรือเดี่ยวก็ได้

เช่น การให้นักเรียนได้ฟังพอดแคสต์ที่เกี่ยวกับเรื่องของการตลาดดิจิทัลและจัดให้นักเรียนนำเสนอในห้องเรียนทางไกลคนละหัวข้อ

 

3. มีการติวนอกเวลาหรือหลักสูตรเสริมสั้นๆ

 

ผู้สอนเองสามารถบันทึกการสอนในรูปแบบวีดีโอและทำการอัพโหลดไปในแพลตฟอร์มต่างๆเช่น YouTube facebook หรือ แม้กระทั่งโพสต์ในโน๊ตของกลุ่มไลน์ (LINE Group) เพื่อเป็นส่วนเสริมหลังจากมีการเรียนในห้องเรียนเสมือนแบบปกติ

 

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการเรียนการสอนผ่านซูม zoom , สไกป์ Skype หรือ การไลฟ์ facebook live เสร็จเรียบร้อย ผู้สอนอาจบันทึกไว้เพื่อให้นักเรียนดูทบทวนได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น

– ไฟล์เสียง
– ไฟล์รูป จากการจับภาพหน้าจอ
– การบันทึกเป็นวิดีโอไว้

 

4. ส่งงานและการบ้านในรูปแบบออนไลน์

 

เมื่อจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลแล้ว และต้องมีงาน มีการบ้านเพื่อให้นักเรียนฝึกปฏิบัติ เพิ่มพูนความรู้ ก็ควรจะจัดให้อยู่ในรูปแบบของ การส่งงานแบบออนไลน์ ซึ่งสามารถใช้เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ในการส่ง เพื่อให้ทั้งนักเรียนใช้งานได้ง่ายๆและผู้สอนตรวจสอบได้ง่ายๆ เช่น Google Docs , Google Forms, Google Sheets

 

5. ควรมีการเก็บข้อมูลและประเมินความก้าวหน้าการเรียนรู้ทั้งหลักสูตรและตัวนักเรียน

 

ใน การจัดการเรียนการสอนทางไกล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี การวัดผล ที่ชัดเจน เพื่อให้รู้ ข้อดีข้อเสีย ของการเรียนการสอน รวมถึง พัฒนาการของนักเรียนเอง ดังนั้น ตัวผู้สอนจำเป็นจะต้องมีการออกแบบการเก็บข้อมูล ทั้งในเรื่องของการเรียนการสอนและตัวนักเรียนด้วย โดยสามารถบันทึกเป็นรายชั่วโมง หรือให้นักเรียนประเมินเอง

โดยอาจตั้งคำถาม เช่น

ก่อนเรียน มีความคาดหวังอะไรบ้างกับหลักสูตรและความรู้ที่จะได้? ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากต้องการบรรลุความคาดหวังนั้น?

 

ระหว่างเรียน มีความก้าวหน้าในการเรียนเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายใช่หรือไม่? ยังคงมีความคาดหวังเหมือนก่อนเรียนรู้ใช่หรือไม่? และ การเรียนรู้ครั้งนี้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพใช่หรือไม่?

 

หลังเรียน ได้รับเนื้อหาและหลักสูตรตามที่คาดหวังไว้ใช่หรือไม่?
การเรียนรู้ของนักเรียนและเนื้อหาของหลักสูตรมีประสิทธิภาพตามความคาดหวังใช่หรือไม่? หากมีการเรียนอีกครั้งต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้สอน คุณครู อาจารย์ หรือ นักเรียนนักศึกษา เรื่องนี้เป็นเรื่องราวใหม่ๆ เป็นเรื่องความแตกต่างที่เกิดขึ้น นักเรียนหลายคนอาจจะกำลังประสบปัญหากับการใช้เทคโนโลยี โปรแกรมต่างๆ ในการเรียน อาจจะมีปัญหากับการมีสมาธิในขณะเรียนแบบทางไกล อาจจะกำลังหงุดหงิดกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครั้งนี้

นั่นก็ไม่ต่างอะไรกับตัวของคุณครู อาจารย์ และ ผู้สอน ดังนั้นเพื่อทำให้บรรยากาศเหมือนกับกำลังเรียนร่วมกันอยู่ในชั้นเรียน ควรทำให้แน่ใจว่ามีความรู้สึกเหมือนกับกำลังเรียนกำลังสอนอยู่ในชั้นเรียนจริงๆ ซึ่งทุกคนก็ต้องพยายามทำให้ได้รับประสบการณ์ในลักษณะนี้ไปพร้อมๆกัน

 

คุณสามารถแสดงความคิดเห็น ในหัวข้อ ” การจัดการเรียนการสอนทางไกล รวม วิธีปฎิบัติและกลยุทธ์ พร้อมใช้ ” ด้วยการคอมเม้นต์ไว้ด้านล่างนี้ หรือ ทักไลน์มาพูดคุยกับ อาจารย์แชมป์ ธิติพล เทียมจันทร์ ได้ที่ @brandingchamp

 

การจัดการเรียนการสอนทางไกล
การจัดการเรียนการสอนทางไกล

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *