เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หายไปไหนทำไมเหลือแต่ “ดิจิทัล” โดย นักการตลาดออนไลน์

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หายไปไหนทำไมเหลือแต่ “ดิจิทัล” โดย นักการตลาดออนไลน์

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับคนไทยทั่วไป น่าจะเคยไม่มากก็น้อย ที่จะได้ยินคำๆนี้ แต่ที่น่าจะคุ้นเคยกับคนในประเทศเรามากที่สุด นั่นก็คงจะเป็นคำว่า ไอซีที (ICT) เพราะคำนี้ถูกระบุใช้เป็นชื่อของ กระทรวงที่สำคัญกระทรวงหนึ่ง ในหลากหลายรัฐบาลมาแล้ว โดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2545 และในท้ายที่สุดเมื่อเดือนกันยายนปี 2559 ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (cr. thai.wikipedia.org) ซึ่ง ชื่อที่ ถ้าจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษให้เท่ๆแล้ว เราก็ต้องเรียกว่า กระทรวง ดีอีเอส (Ministry of Digital Economy and Society : DES) แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องราวและความคิดเห็น เกี่ยวกับ การหายไปของ ไอซีที และ การเกิดขึ้นใหม่ของคำว่า ดิจิทัล ราวมาทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับคำคำนี้กันก่อน

 

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ คำที่เป็นความหมายรวมกันของ คำว่า เทคโนโลยี (Technology) คำว่า สารสนเทศ (Information) และ อีกคำหนึ่ง นั่นคือ คำว่า การสื่อสาร (Communication) ซึ่งหมายถึง การผสานเข้ากันของการความก้าวหน้าและพัฒนาการของโทรศัพท์และระบบสื่อสารไร้สาย คอมพิวเตอร์ ทั้ง ซอฟต์แวร์ โปรแกรม หน่วยเก็บข้อมูล อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้ เข้าถึง/เก็บ/ส่ง และ การจัดการข้อมูลสารสนเทศได้โดยครอบคลุมไปถึงเรื่องของการสื่อสารและเครือข่ายด้วย 

 

จากความหมายเบื้องต้น ก็ฟังดูน่าจะเป็นประโยชน์ครอบคลุมได้ทั้งหมดแล้ว แต่แล้วทำไม คำว่า ไอซีที กลับถูกลดความนิยม ความครอบคลุม ลงไปจนปัจจุบันพูดกันแต่เรื่องของ ดิจิทัล ที่แม้แต่ทางรัฐบาลไทยก็ยังต้องปรับตัว สาเหตุในเชิงลึก ที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นั้นอาจจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรก็แล้วแต่ แต่ในฐานะนักการตลาดออนไลน์ ก็ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในเชิงของการวิเคราะห์ไว้เบื้องต้นในลักษณะนี้ คือ

 

คำว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งแปลโดยตรงมาจากภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า Information and Communication Technology เป็นศาสตร์และวิชาการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงยุคตั้งแต่ ค.ศ. 2000 จนถึงประมาณ 2010 โดยผู้ที่อยู่ในช่วงยุคนั้นและมีความเกี่ยวกันกับเทคโนโลยีในส่วนนี้ส่วนมาก ก็จะรู้จักในนามของ นักไอที หรือ ระบบไอที ต่างๆ

 

ในช่วงยุคนั้นการมาถึงของเทคโนโลยีอันทันสมัยยังไม่ได้มีมากเท่าปัจจุบันนี้ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์โดยทั่วไปและโดยมากก็จะเป็นการทำงานผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนตัว โน้ตบุ๊ค (notebook) และ แลปท๊อป (laptop)

 

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของอุปกรณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ถูกบรรจุลงในเครื่องมือสื่อสารอย่าง โทรศัพท์มือถือ แล้วก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก รวมถึงกระจายตัวออกไปในวงกว้างในสังคม รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารเชื่อมต่อกันระหว่างคนทั่วไปก็เกิดการปฏิวัติอย่างรุนแรง นั่นคือ เรื่องของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค (Social Network) เมื่อ 2 อย่างมารวมกัน ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและเหมาะเจาะเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้สื่อสังคมออนไลน์อย่างโซเชี่ยลมีเดีย (Social media) ที่ได้รับความนิยมมากๆ และ ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ของอุปกรณ์มือถือสมาร์ทโฟน

 

ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีของคนทั่วไป ก็ไม่จำเป็นต้องมี อุปกรณ์ราคาแพง หรือ เข้าถึงได้ยาก เหมือนยุคสมัยไอทีตอนต้นที่ต้องมีคอมพิวเตอร์ หรือ laptop เท่านั้นเพื่อเชื่อมเข้าสู่โลกออนไลน์และอินเทอร์เน็ต ดังนั้นด้วยความเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะนี้ ความรู้ในส่วนของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็ค่อนข้างจะเป็นเรื่องของการจำกัดวงความคิดจนเกินไป สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นและการปฏิวัติทั้งหมด จึงถูกเรียกรวมว่าเป็นเรื่องของ “ยุคดิจิทัล”

 

และนำมาซึ่งคำที่ทุกคนเริ่มรู้จักและคุ้นเคยนั่นก็คือคำว่า ดิจิตอล หรือ ดิจิทัล นั่นเอง ด้วยสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลของกระบวนการและแนวคิดเหล่านี้ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้การทำงานแนวความคิดและแนวทางการปฏิบัติต่างๆของทางภาครัฐสู่ประชาชนได้เป็นไปอย่างครอบคลุมและทันสมัยมากขึ้น

 

แต่สิ่งที่นโยบายจากทางภาครัฐยังไม่ได้กระจายออกไปในสังคมมากนัก นั่นก็คือ ถ้าเราสังเกตว่าในแต่ละระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ ยังคงมีการเรียนรู้ในศาสตร์ของไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกันอยู่ตามปกติ แต่ก็มีบ้างที่บางมหาวิทยาลัยและระดับอุดมศึกษา เริ่มมีการปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มหลักสูตร และ เพิ่มเนื้อหาให้ทันสมัย เปลี่ยนชื่อ ด้วยเช่นกันให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

 

อาชีพ ยุค ไอซีที 

ในเรื่องของ อาชีพ ในยุคของ ไอที หรือ ไอซีที ได้มีการเกิดขึ้นใหม่ของอาชีพอย่างไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ซึ่งเป็นงานที่อาจจะไม่ได้เป็นผลลัพธ์ในทันทีเหมือนอย่างอาชีพที่เคยมีมา เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างตัดผม ชาวประมง และ อื่นๆ แต่ อาชีพยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเป็นงานที่ค่อนข้างมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก เช่น โปรแกรมเมอร์ (Programmer) ผู้จัดการฐานข้อมูล (Database Manager) นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) หรือ ผู้บริหารจัดการระบบเครือข่าย (Network Administator) แต่ที่มากไปกว่านั้น อาชีพที่เกิดขึ้นหลังจากที่ยุคไอซีทีได้รับความนิยมน้อยลง และ ยุคดิจิทัล ถือเป็นกระแสหลัก อาชีพใหม่ๆกลับแตกต่างออกไปอย่างคาดไม่ถึง อีกมากมาย เช่น Data Artist , Blockchain specialist หรือ แม้กระทั่ง Vlogger หรือ Youtuber (คำเหล่านี้ใหม่ขนาดที่ยังไม่มีการบัญญัติคำแปลในภาษไทยอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ) 

 

สำหรับผม อาจารย์แชมป์ ธิติพล เทียมจันทร์ โดยส่วนตัวแล้วจบปริญญาตรีในสายงานของ วิทยาศาสตร์วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และ อยู่ในยุคแรกเริ่มของความนิยมในเรื่องไอที (Information technology : IT) และการสื่อสาร ดังนั้นจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดในการพัฒนาของการใช้เทคโนโลยีกับการสื่อสารเชื่อมต่อระหว่างบุคคลโดยทั่วไปและด้วยแรงสนับสนุนที่ดีทำให้ได้รับโอกาสศึกษาต่อในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันในมหาวิทยาลัยที่ประเทศออสเตรเลีย Wollongong University ในระดับบัณฑิตศึกษาหรือปริญญาโทในสาขาหลักสูตร Master of Information and Communication technology (MICT) ดังนั้นในเนื้อหาและประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมทั้งหมดจึงเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้และในปัจจุบันในฐานะของ ที่ปรึกษาด้านการตลาดดิจิตอลหรือการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นงานหลักในปัจจุบันจึงทำให้เข้าถึงเรื่องของความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างชัดเจน

 

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร-ที่ปรึกษา-การตลาดออนไลน์
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร-ที่ปรึกษา-การตลาดออนไลน์

 

ยังมีคำถามจากน้องๆและนักศึกษาส่วนมากที่กำลังศึกษาในหลักสูตรเดิม นั่นก็คือ หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ ไอที หรือ ไอซีที (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ว่าจะสามารถทำงานในส่วนของโครงสร้างความรู้ที่เปลี่ยนไปและใช้ชื่อว่า ดิจิทัล ได้หรือไม่

 

ด้วย “ความคิดเห็นส่วนตัว” ของผมแล้วประกอบกับประสบการณ์และการทำงานในปัจจุบัน ต้องบอกว่า แม้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่หลักสูตรที่ยังมีใช้อยู่ในระดับมหาวิทยาลัยบางหลักสูตรก็สามารถเป็นประโยชน์ให้กับตัวนักศึกษาได้ ตัวอย่าง เช่น ในส่วนของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยตรง ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก (ในส่วนของประเด็นความรู้หลัก) แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ การนำไปประยุกต์ใช้ ทำให้สังคมจับต้องและเข้าถึงได้มากขึ้น

 

พูดง่ายๆ คือ ในปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนเป็นยุคดิจิทัล เราก็ยังสามารถนำความรู้ความสามารถในส่วนของ ICT หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงปัจจุบันที่เกิดขึ้นให้ได้ประโยชน์สูงสุด ตัวอย่าง เช่น เราเคยมีการศึกษาเรื่องของการนำข้อมูลต่างๆมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่สมัยเริ่มต้นของยุคไอทีแล้ว แต่แนวความคิดหรือความรู้เหล่านี้ก็ถูกนำไปต่อยอดและทำให้ใช้ประโยชน์และจับต้องได้จริงอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น ในยุคดิจิทัลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการใช้ระบบการเรียนรู้ Machine Learning (ML) และ ประกอบกับ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence:AI) ที่ได้รับความนิยมและพัฒนาไปอย่างมาก

 

ปัจจุบันเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัยมากขึ้น และ ที่สำคัญที่สุด คือ “ราคา” ที่ถูกลงของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และ การเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัย รวมทั้ง ความเร็วของการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันบางประเทศมีการใช้ความเร็วในระดับ 5G กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ดังนั้น ถ้าจะให้สรุปโดยรวมแล้ว สำหรับน้องๆที่ยังคงศึกษาในเรื่องของวิทยาการ ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อยู่ และ มีความกังวลว่าจะสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์หรือทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ดิจิทัล digital อย่างในปัจจุบันได้หรือไม่ ก็ต้องบอกได้เลยว่า รับรองว่าไม่มีปัญหาแน่นอน เพียงแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของน้องๆทุกคนที่อยากจะฝากไว้นั่น คือ เราจำเป็นจะต้องนำความรู้ที่ได้จากระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยของเราไปใช้อย่างมีคุณค่าและสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อให้เป็นประโยชน์กับสังคมและคนหมู่มาก เพราะ ถ้าหากไม่ทำเช่นนี้แล้ว ความรู้ที่เราศึกษากันอยู่นี้ก็ไม่อาจนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้เลยก็เปรียบเสมือนกับที่คนไทยชอบพูดว่า “เรียนแล้วก็เอาไว้บนหิ้ง” นั่นเอง

 

สำหรับตัวอย่าง อาชีพที่ถ้าหากจบในสายของ ICT หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อย่างผมก็สามารถทำงานในส่วนของ นักการตลาดดิจิทัล หรือ digital marketing (การตลาดออนไลน์) ได้ไม่ยากนัก หากมีการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

 

ปัจจุบัน ถ้าหากเราลองสังเกต ผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) เน็ตไอดอล (Net idol) หรือ บล็อกเกอร์ (blogger) ในสายของ ผู้เชี่ยวชาญ โค้ช กูรู ต่างๆ ที่ให้ความรู้ด้าน การตลาดออนไลน์ แล้ว เราก็จะเห็นได้ว่า มีส่วนน้อย ที่จบมาสายตรงเกี่ยวกับ การตลาดดิจิตอล เพราะสำคัญที่สุดในยุคที่ผ่านมา ศาสตร์เหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นความรู้ต่างๆที่เคยเรียนมา จำเป็นจะต้องประยุกต์ใช้และนำมาพัฒนาต่อยอดเอง บางคนจบ วิศวะเคมี บางคนจบคณิตศาสตร์ บางคนจบนิเทศ และ บางคนจบบริหารธุรกิจ 

 

อีกอย่างตัวผมเองจบมาในสายของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หากเราหยุดพัฒนาตัวเองในเรื่องของการทำธุรกิจ การตลาดและการขาย ก็ไม่มีวันที่จะได้มายืนตรงจุดนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องขอฝากน้องๆที่เรียนไม่ว่าจะสาขาวิชาใดๆอยู่ตอนนี้ ถ้ารู้สึกไม่ชอบหรือยังไม่แน่ใจกับสิ่งที่ได้ศึกษาและเรียนรู้อยู่ รวมทั้งยังไม่แน่ใจว่าหลังจากจบการศึกษาไปแล้วจะหันเหหน้าหรือจะไปประกอบอาชีพอะไร ก็ต้องบอกหรือแนะนำในฐานะรุ่นพี่ไว้ว่าสิ่งที่ควรทำที่สุด คือ ลองทำหลายๆอย่างไปก่อน เนื่องจากนักเรียนนักศึกษายังอยู่ในช่วงที่เป็นวัยรุ่น อายุยังน้อย ยังมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองหรือโฟกัสเฉพาะสายงานหนึ่งสายงานใดไปตลอดชีวิตได้อีกนาน สิ่งที่สำคัญ คือ คุณจะยังไม่รู้ว่าเราชอบอะไร หรือ สนใจแบบไหน ดังนั้น การลองทำหลายๆอย่าง ในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่นและอายุยังน้อย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เราได้รู้ว่า เราชอบอะไร และ ที่สำคัญที่สุด คือ เรา”ไม่”ชอบอะไร

 

ย้อนไปที่คำถามที่เราเริ่มต้นในส่วนของการพูดคุยกันนี้ คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หายไปไหนทำไมเหลือแต่ ดิจิทัล ตอบไว้ตรงนี้เลยว่า

 

มันไม่ได้หายไปไหนเลย ในส่วนความรู้เรื่องของ ไอที ไอซีที หรือ แม้ว่าจะเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์การ เขียนโปรแกรม ต่างๆ รวมทั้ง หลักการตลาดส่วนใหญ่ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องราวในปัจจุบัน รวมถึง การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันได้ อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องอาศัยการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา รับรองว่าสิ่งที่เรียนมาจะได้ใช้แน่นอน

 

ถ้าจะให้เปรียบง่ายๆ และ เห็นได้ชัด นั่นก็คือ ตัวอย่างของ โทรศัพท์ ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยจากสมัยก่อน โทรศัพท์ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารระหว่างกันอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ เทคโนโลยีที่ทำให้โทรศัพท์มีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนโทรศัพท์อาจจะเป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่จำเป็นจะต้องมีสายระโยงระยางและตั้งไว้ที่บ้านรอคนโทรเข้าหรือเราจะใช้ก็ต่อเมื่อต้องการติดต่อสื่อสารหรือโทรออกไปหาใครบางคน แต่ ปัจจุบันโทรศัพท์กลายเป็นอุปกรณ์มือถือ และ เรียกว่า สมาร์ทโฟน ไปแล้ว

 

เนื่องจากว่าไม่ใช่แค่เพียงการสื่อสารด้วยการพูดกันเท่านั้น โทรศัพท์ยังสามารถทำให้เราเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ หลากหลายและเกิดขึ้นได้ในทันทีตลอดเวลา รวมทั้ง เราสามารถทำได้มากกว่าการพูดคุย นั่นก็คือ การแชท การคุยกันผ่านวีดีโอ (video call) หรือ การส่งข้อความเสียง (Voice messages) หากัน ดังนั้น เทียบเคียงกับเทคโนโลยีหรือศาสตร์การเรียนรู้ที่ผ่านมานั่นคือ ไอที หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มันก็ถูกเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและการพัฒนาของเทคโนโลยีจนกลายมาเรียกว่า ดิจิทัล นั่นเอง โดยรวมแนวคิดหลักหรือความสามารถหลักของศาสตร์เหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพียงแต่ถูกประยุกต์ใช้และพัฒนาไปใช้ในหลักการและโครงการต่างๆ

ขอบคุณ บทสัมภาษณ์ จาก BangkokBangkok.NET

ท้ายนี้คุณสามารถ ร่วมแสดงความคิดเห็น เรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หายไปไหนทำไมเหลือแต่ ดิจิทัล ได้ด้วยการคอมเม้นต์ไว้ด้านล่างนี้ หรือ ง่ายๆด้วยการทักไลน์มาคุยกันได้ที่ @brandingchamp ตลอดเวลา

 

ที่ปรึกษาการตลาด ดิจิทัล
ที่ปรึกษาการตลาด ดิจิทัล
วิทยากร การตลาด ดิจิทัล
วิทยากร การตลาด ดิจิทัล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *